โรคกลัวการเข้าสังคม คือ อาการวิตกกังวลว่าตัวเองจะเผลอทำอะไรเปิ่น ๆ เชย ๆ หรือทำพลาดให้ต้องอับอาย กลัวถูกวิพากย์วิจารณ์จากคนรอบข้าง ซึ่งดูเหมือนอาการของคนตื่นเต้นกับบางอย่างแบบปกติทั่วไป แต่สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) จะประหม่ามาก และไม่สามารถบังคับตัวเองให้ไม่ขลาดกลัวการเข้าสังคมได้เลย สาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคม นักจิตวิทยากล่าวว่า สาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริง เพราะบางกรณีโรคนี้ก็เกิดกับคนในครอบครัวเพียงแค่คนเดียว คนอื่น ๆ ไม่มีอาการของโรคเลย ทั้งนี้อาจจะอธิบายในทางชีววิทยาได้ว่า นอกจากการเลี้ยงดูของครอบครัวแล้ว บางทีสาเหตุของโรคยังอาจเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของสมอง พันธุกรรม การประมวลผลในการกระทำของตัวเองและการตอบสนองของบุคคลอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมฝังใจตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วย โรคกลัวการเข้าสังคมเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ? จากสถิติพบว่า โรคกลัวการเข้าสังคมเกิดขึ้นกับคนได้ทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเพศหญิง หรือเพศชายก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เท่า ๆ กัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อาการของโรคจะเห็นเด่นชัดในช่วงวัยเด็ก จนไปถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เริ่มต้องเข้าสังคมมากขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ยังมีแนวโน้มอีกด้วยว่า ผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมส่วนมากจะขาดความมั่นใจในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และคิดว่าตัวเองมีปมด้อยที่น่าอับอาย ซึ่งเป็นความคิดที่ลดคุณค่าของตัวเองลงโดยไม่รู้ตัว จนเกิดความขลาดกลัวการเข้าสังคมในที่สุด อาการหวาดกลัวสังคมที่เกิดขึ้นกับเด็ก เด็กขี้อายเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยของเขา แต่สำหรับเด็กที่เข้าข่ายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมจะแตกต่างออกไป เด็กเหล่านี้จะไม่กล้าแม้แต่เล่นกับเด็กคนอื่น อายถึงขั้นหวาดกลัวการพูดกับผู้ใหญ่ ไม่สบตาใครขณะพูด และมักจะไม่ยอมไปโรงเรียน อาการหวาดกลัวสังคมที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ โดยปกติแล้วผู้ใหญ่ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม มักจะมีอาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือเป็นวัยรุ่น โดยที่ไม่ได้รับการรักษาเยียวยาให้หายหวาดกลัวการเข้าสังคม สัญญาณ และอาการของโรค อ่านมาถึงตรงนี้ก็ชักสงสัยแล้วสิว่า คนที่เรารู้จักหรือแม้แต่ตัวเราเองเป็นโรคหวาดกลัวสังคมด้วยหรือเปล่า งั้นมาเช็กสัญญาณอาการของโรคนี้กันก่อนเลย โดยอาการของโรคจะแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้ อาการแสดงออกทางอารมณ์ และความคิด – รู้สึกประหม่าทุกครั้งที่ต้องพูดคุยกับบุคคลอื่น หรือเผลอ ๆ อยู่ต่อหน้าคนอื่นก็พูดไม่ออก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องพูดไปตามมารยาทก็ยังฝืนความวิตกกังวลของตัวเองไม่ได้ – วิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา หวาดกลัวบุคคลอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไปต่าง ๆ นานา – เครียดล่วงหน้าเป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เมื่อรู้ว่าต้องปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน หรือต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่เจอคนเยอะ ๆ – กลัวว่าตัวเองจะแสดงอาการหน้าขายหน้าอะไรออกไปสักอย่าง – กลัวคนอื่นจะจับสังเกตได้ว่ากำลังรู้สึกประหม่าอยู่ อาการแสดงออกทางร่างกาย – อาย หน้าแดง เขินจนบิด ไม่กล้าสบตา – หายใจหอบถี่กระชั้น – ปั่นป่วนในท้อง บางรายถึงกับอาเจียน – เสียงสั่น พูดตะกุกตะกัก – ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก – เหงื่อแตก – หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ พฤติกรรมบ่งชี้อาการ – ชอบปลีกตัวไปหลบอยู่คนเดียวบ่อย ๆ เพราะกลัวการเผชิญหน้ากับบุคคลอื่น – มนุษยสัมพันธ์ค่อนข้างต่ำ สานสัมพันธ์ไม่เก่ง และรักษาความเป็นเพื่อนไว้ได้ยาก – ไม่กล้าทำอะไรด้วยตัวเองแบบเดี่ยว ๆ จำเป็นต้องมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม – ไม่กล้าแสดงออกขั้นรุนแรง – ในผู้ใหญ่บางรายอาจดื่มแอลกอฮอล์ย้อมใจทุกครั้ง ก่อนออกไปเผชิญหน้ากับคนหมู่มาก ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหวาดกลัวสังคม หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ อาการโรคหวาดกลัวสังคมคงไม่แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจนนัก แต่หากคน ๆ นั้นได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกบางอย่าง ก็ทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมาได้ เช่นปัจจัยต่อไปนี้ – เมื่อต้องพบเพื่อน หรือต้องทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ – กำลังตกเป็นเป้าสายตา – ถูกจับจ้องเวลาที่ทำอะไรก็ตาม – รู้สึกว่าโดนแอบมอง – จำเป็นต้องพูดคุยกับใครเป็นบทสนทนาสั้น ๆ – เมื่อต้องพูดในที่สาธารณะ – เมื่อต้องทำการแสดงบนเวที หรือหน้าชั้นเรียน – ถูกล้อ แซว หรือกล่าวถึง – เมื่อต้องพูดคุยกับคนสำคัญ หรือบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่าตัวเอง – เวลาไปออกเดท – เมื่อเป็นฝ่ายโทรศัพท์ หรือติดต่อผู้อื่นก่อน – ถูกเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงท่ามกลางคนหมู่มาก – ใช้ห้องน้ำสาธารณะ – เมื่อต้องเข้าสอบ หรือถูกทดสอบ – รับประทานอาหารในที่สาธารณะ – เมื่อต้องลุกขึ้นพูดในที่ประชุม – เวลาไปงานปาร์ตี้ หรือต้องเข้าร่วมงานที่มีคนเยอะ ๆ การวินิจฉัยโรค จิตแพทย์จะวินิจฉัยโรคเมื่อบุคคลนั้นมีอาการกลัวสังคมต่อเนื่องกันนานเกิน 6 เดือน (โดยเฉพาะวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น) โดยจะมีแบบทดสอบให้ทำ และจับสังเกตอาการระหว่างที่พูดคุย รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำสาธารณะต่อหน้าบุคคลอื่น (คนนอกครอบครัว หรือคนแปลกหน้า) หากว่าผู้ทดสอบมีอาการวิตกกังวล และหวาดกลัวต่อบุคคลอื่นแม้จะใช้ชีวิตตามปกติของตัวเองก็ทำได้ลำบาก นั่นก็แสดงว่า เข้าข่ายป่วยเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมแล้วนั่นเองค่ะ โรคกลัวการเข้าสังคม มีผลกระทบกับชีวิตอย่างไรบ้าง ? โรคหวาดกลัวสังคมถือเป็นอาการผิดปกติทางสุขภาพจิต ซึ่งหากใครเป็น ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างเช่น ผลกระทบกับชีวิตการงาน และการเรียน – ไม่กล้าไปสัมภาษณ์งาน – มีปัญหากับการติดต่อประสานงานกับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน – ไม่กล้าแสดงออกในที่ประชุม หรือหน้าชั้นเรียน – ลังเลที่จะตัดสินใจรับตำแหน่ง หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย – ประสิทธิภาพในการทำงาน และการเรียนถดถอย – ไม่มีความสุขกับการเรียน และการทำงาน ผลกระทบกับความสัมพันธ์ – มีปัญหาในการสานสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเพื่อน หรือคนรักก็ตาม ทำให้คบกับใครไม่ได้นาน – ไม่กล้าเปิดใจรับใครเข้ามา – ไม่กล้าแชร์ความคิดเห็นร่วมกับบุคคลอื่น ผลกระทบกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน – เสียโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ ทำให้ไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งพลาดโอกาสดี ๆ ในชีวิตอีกหลายสิ่งเลยทีเดียว อีกทั้งการกักขังตัวเองอยู่ในโลกส่วนตัว ยังทำให้คุณกลายเป็นคนโลกแคบได้ง่าย ๆ ด้วยค่ะ
